สมองทำงานอย่างไร แล้วจะมีวิธีใดเพิ่มพลังสมอง

สมองทำงานอย่างไร แล้วจะมีวิธีใดเพิ่มพลังสมอง โดยเฉพาะสมองของลูกน้อย ดร.ปรียาสิริ รพ.รามาฯ มีคำตอบที่ไม่ยาก

สมองของเราทุกคนเป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์อย่างหนึ่งก็คือ สามารถทำหน้าที่หลายอย่างในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราจะเดินไปตลาดสมองส่วนแรกจะเริ่มคำนวณระยะทาง ตาจะมองเห็นถนนอย่างที่เราคิดว่าเป็นถนนอันเนื่องมาจากการประมวลผลของสมอง สมองด้านความจำจะคิดทบทวนว่าจะไปที่ตลาดเพื่อทำอะไรกันแน่ ในขณะเดียวกันสมองอีกส่วนก็อาจจะสั่งให้เราเอามือปิดจมูกทันทีเมื่อมีรถควันดำวิ่งผ่าน

จากตัวอย่างนี้จะพบได้ว่า สมองต้องการใช้พลังงานในหลายๆ ส่วนให้เกิดความเชื่อมโยงและคิดไปในทิศทางเดียวกัน แหล่งพลังงานของสมองนั้นไม่ได้มาจากที่ไหนเลย ก็มาจากอาหารที่เรารับประทานนั่นเองค่ะ

สมองใช้คาร์โบไฮเดรต (หรือจะเรียกว่าน้ำตาลก็ได้ค่ะ) เป็นเชื้อเพลิงก็จริง แต่จะไม่กักเก็บคาร์โบไฮเดรตนี้ไว้เอง นั่นหมายความว่า ในการที่ทำให้สมองมีเชื้อเพลิงที่เหมาะสม เราจำเป็นต้องรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานช้า ต่อเนื่องตลอด แต่เชื้อเพลิงนี้ก็ไม่สามารถก่อให้เกิดพลังงานได้ ถ้าเราไม่มีไขมันเป็นตัวลำเลียงเชื้อเพลิง

อย่างที่เกริ่นไปตอนที่แล้วว่า 60% ของสมองประกอบด้วยไขมัน ดังนั้น สมองจำเป็นที่จะต้องใช้ตัวลำเลียงเชื้อเพลิงที่เป็นไขมันเช่นเดียวกัน เราเรียกตัวนี้ว่า flexible fats ซึ่งสำคัญมาก เพราะช่วยให้สมองสามารถทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันนั่นเองค่ะ

ตรงนี้สำคัญมากเพราะคำถามมักเกิดขึ้นว่าแล้ว flexible fats นี่คืออะไรกันแน่ จะหาได้จากที่ไหน ต้องมีปริมาณเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ

จะว่าไปแล้วไขมัน (หรือ fats) ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ไขมันดี (good fats) และไขมันไม่ดี (bad fats) ในส่วนที่เป็นไขมันดีก็คือ กรดไขมันจากโอเมก้า-3 ซึ่งสมองไม่สามารถทำงานเมื่อปราศจากไขมันโอเมก้า-3 รวมถึงร่างกายไม่สามารถทำงานเช่นเดียวกัน โอเมก้า-3 เป็นไขมันดีก็เพราะว่า เป็นไขมันที่ร่างกายต้องการในเวลาย่อยและค่อยๆ นำไปใช้ อย่างที่เกริ่นไปตอนแรกคือ สมองต้องการพลังงานที่ส่งมาช้าๆ อย่างต่อเนื่อง ไปเรื่อยๆ ดังนั้น โอเมก้า-3 จึงมีคุณสมบัติดีมากที่สุด

นอกจากนี้ยังมีไขมันอีก 1 ตัวที่เรารู้จักกันดีคือ โอเมก้า-6 คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะสับสนได้ว่า สามารถรับประทานโอเมก้า-6 ทดแทนโอเมก้า-3 ได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ค่ะ

โอเมก้า-6 ส่วนใหญ่มาจากอาหารที่เรียกว่า fake food เช่น ข้าวโพด (หรือข้าวโพดแปรรูป) จะทำงานได้ดีคือ หลอกร่างกายว่ามีปริมาณไขมันเพียงพอ เมื่อทำงานร่วมกับโอเมก้า-3 (และต้องให้โอเมก้า-3 เป็นตัวหลัก) เท่านั้นค่ะ ถ้าร่างกายได้รับโอเมก้า-6 มากเกินไป อาการอย่างแรกคือ จะรู้สึกท้องอืด ไม่สบายตัว และตามมาด้วยภาวะการอยากน้ำตาลมากขึ้น

คราวนี้คำถามคือ แล้วโอเมก้าทั้ง 2 ตัวทำงานต่างกันอย่างไรกัน ทำไมสมองถึงจะต้องเลือกว่าจะใช้โอเมก้า-3 ไม่เอาโอเมก้า-6

คำตอบคือ ข้างในสมองนั้นจะประกอบไปด้วย เส้นใยประสาทจำนวนมาก โยงใยระหว่างเซลล์สมอง 2 เซลล์ เรียกว่าเหมือนกับถนนเล็กๆ นั่นแหละค่ะ คราวนี้เพื่อให้เกิดการรับสาร-ส่งสารระหว่างเซลล์ประสาทอย่างถูกต้อง จะต้องมีรถที่จะลำเลียงเอาข้อมูลไป รถที่ว่านั่นก็คือโอเมก้า-3 ที่ใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นตัวเชื้อเพลิงแทนน้ำมัน และเมื่อได้ครบส่วนเรียบร้อยก็จะนำข้อมูลไปส่งอีกจุดหนึ่ง ซึ่งก็ยังต้องมีการจอดรถไว้ที่จุดนั้นด้วย

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารับประทานโอเมก้า-6 มากๆ ก็เปรียบได้กับการที่เราขับรถบรรทุกบนถนนซอย ทำให้ไปอย่างอืดอาด และเพราะการขับเคลื่อนที่ช้า ทำให้เซลล์สมองบางส่วนจะไม่ได้รับไขมันอย่างทันท่วงที มีผลทำให้สมองประมวลผลได้ช้าลง รวมถึงเมื่อไปจอดเข้าซองระหว่างจุด (เซลล์ประสาท)แล้ว ก็ไม่สามารถจอดเข้าได้ เนื่องจากที่จอดแคบเกินไป ประมาณเอารถบรรทุกไปจอดที่จอดรถตุ๊กๆ ทำให้ต้องเสียเวลามากกับการบีบรถให้มีขนาดเล็กลง

ขณะเดียวกันสมองก็จะสั่งว่า อาหารมีไม่เพียงพอ ทำให้เราพยายามหาน้ำตาลแบบเร่งด่วน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากน้ำตาลไม่ดีจากพวกขนมต่างๆ มาช่วยให้สมองทำงานได้ทันทีนั่นเองค่ะ

นอกจากนี้ จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Yale พบว่า เด็กสมาธิสั้นจะมีอัตราส่วนของโอเมก้า-6 มากกว่าโอเมก้า-3 ประมาณ 3 เท่า ทั้งยังพบด้วยว่า เด็กที่ได้รับโอเมก้า-3 เพียงพอในแต่ละวัน จะมีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ดีกว่าเด็กที่รับประทานอาหารทั่วไป

อาหารที่มีโอเมก้า-3 นั้นไม่จำเป็นต้องมาจากเครื่องดื่มสกัดจำพวก หมูสกัด ไก่สกัดหรือผลไม้สกัด แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถหาได้จาก น้ำมันตับปลาหรือน้ำมันปลา (ชนิดที่ไม่มีน้ำตาล น้ำเชื่อม หรือรสปรุงแต่ง) อาหารทะเล ถั่วต่างๆ น้ำมันมะกอกและเมล็ดแฟลกซ์ (flax seeds)

ส่วนอาหารที่มีโอเมก้า-6 มากคือ ไขมันจากสัตว์ ขนมเค้กและเบเกอรี่ต่างๆ ของทอด เนื้อสัตว์ที่มาจากอุตสาหกรรมเกษตร น้ำมันข้าวโพด น้ำมันทรานส์ (hydrogenate oil หรือ trans fat) น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันดอกทานตะวัน

คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่อยากให้สมองของลูกมีความพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ คงต้องกลับมาถามตัวเองว่า วันนี้ได้ให้ลูกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าเป็นพื้นฐานแล้วหรือยัง เพราะถ้าไม่เริ่มตอนนี้กว่าจะรู้อีกทีก็คงสายเสียแล้วค่ะ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

*บทความโดย ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์ วิฑูรชาติ
ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล